Wednesday, May 29, 2013

สนธนาธรรมกับครู โดยพระอาจารย์ชยสาโร (๒)

แต่เราพูดถึงวิชชาหรือปรัชญาหรือศาสนาของพระอริยะเจ้า กับศาสนาปรัชญาของปุถุชน เราต้องยอมรับว่าศาสนา ปรัชญา จิตศาสตร์อะไร วิทยาศาสตร์ ทุกศาสตร์ของชาวตะวันตกล้วนเป็นของปุถุชนร้อยเปอร์เซ็นเลย มันก็มีความดี มีความละเอียดลึกซึ้ง แต่เป็นความลึกซึ้งของปุถุชน เพราะทุกคนที่คิด เขาคิดโดยความเชื่อในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ว่าเป็นตัวเรา คือ มีสังคายทิฐิ (นาทีที่ 21:55) คือ ยังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะฉะนั้นปรัชญาหรือคำสอนที่น้อมจิตใจเราเป็นสู่ความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของชาวพุทธ ก็เป็นคำสอนที่เกิดจากจิตใจที่ปราศจากกิเลส

ฉะนั้น เราศึกษาทั้งปรัชญาหรือทั้งอะไรต่ออะไรก็ได้ แต่ว่าเรามองในฐานะเป็นของระดับตัว How (นาทีที่ 22:42) สิ่งที่มีแก่นสาร สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ก็อยู่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมันก็กลายเป็นเรื่องของความคิด เช่น ชาวพุทธหลายคนชอบดูถูกคนที่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าว่า เขางมงายในพระเจ้า งมงายในคัมภีร์ไบเบิ้ล ไม่เหมือนศาสนาของเราเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล แต่ว่าตัวเองเคยใช้เหตุใช้ผลซะทีไหม ไม่เคยใช้ เขาเรียกว่าเชื่องมงายในเหตุผล คนเชื่องมงายในเหตุผล กับคนเชื่องมงายในพระเจ้า ใครเก่งกว่ากัน ใครดีกว่ากัน พอๆ กัน

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาต้องย้ำเรื่องปัญญา รักษาศีลต้องมีปัญญา รู้ว่าเรารักษาทำไม รู้คุณของการรักษา รู้โทษของการไม่รักษา ให้ทานก็มีปัญญา รู้ในสิ่งที่ควรให้ ไม่ควรให้ อะไรๆต้องมีปัญญากำกับตลอดเวลา มันจึงจะเป็นพุทธศาสนาที่มุ่งที่ปัญญา นั่งสมาธิภาวนา ไม่ได้นั่งเพื่อเห็นนั่นเห็นนี่ เพื่อที่จะได้เที่ยวสวรรค์เที่ยวนรก หรือจะเป็นผู้วิเศษ แต่นั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตใจมีความมั่นคง แน่วแน่ มีความมั่นคงพอที่จะมีความวางเฉยต่ออารมณ์

เมื่อจิตใจไม่มีความหวั่นไหวต่ออารมณ์ จิตใจจะเห็นอารมณ์ตามจริง แล้วก็จะเบื่อหน่ายในความยึดมั่นยึดถือในอารมณ์ ในการถือในกรรมสิทธิ์ของอารมณ์ ว่านั่นเป็นของเรา นั่นคือของเรา ความทุกข์มันอยู่ตรงนี้ และพุทธศาสนาสอนง่ายๆ เรื่องทุกข์ เรื่องการดับความทุกข์ ตอนนี้เรามีความทุกข์ไหม
เมื่อเราเกิดความทุกข์เราทำอย่างไร เราอยากลบเลือนไหม เราปฏิเสธไหม เราพยายามหนีจากความทุกข์ไหม แล้วเรามีศรัทธาพอเพื่อจะเผชิญหน้ากับความทุกข์ นี่คือทุกข์ เมื่อเราเห็นทุกข์ เราก็เห็นเหตุให้เกิดกับความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็นิ่งดูความทุกข์ นี่คือความทุกข์ นี่เรารู้ว่าความทุกข์เกิดเพราะอะไร ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนนั้นคนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งใดนอกจากความคิดผิดของตนเอง ขณะนี้เรากำลังมีความคิดผิดอย่างไร เดี๋ยวนี้เรากำลังมีความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร นี่คือเรื่องทุกข์

และเรื่องเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ก็มีการปฏิบัติ สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้เราก็ต้องยอมรับ สิ่งที่เราแก้ไขได้เราก็ปฏิบัติเพื่อจะแก้ไข มีสติ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังพูดอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร พูดเพื่ออะไร คิดเพื่ออะไร มีความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน ให้ธรรมะปรากฏในความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเรา ธรรมะต้องปรากฎในการสัมพันธ์กับครอบครัว ในการสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การสัมพันธ์กับธรรมชาติ
เมื่อเรามีสติ ไม่ได้ปรากฏ .. (นาทีที่ 26:40) ตัวตน ผลประโยชน์ของตัวตน เปิดจิตกว้างออกไปรับรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย เราจะได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะเห็นว่าการเบียดเบียนเขาก็เหมือนกับการเบียดเบียนตัวเอง ในการเบียดเบียนธรรมชาติ ก็คือ การเบียดเบียนตัวเอง

เราจะเห็นความสำคัญของคนที่ตายไปแล้วซึ่งเป็นบรรพบุรุษ ซึ่งเราจะมีความกตัญญูกตเวที พยายามรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของประเทศไทยไว้ แล้วเราจะมีการใช้สอยอย่างประหยัด ก็จะมีความเคารพต่อธรรมชาติ ถ้าเราปล้นธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ในฐานะปัจจุบัน เป็นการทำลายอนาคตของประเทศชาติ เป็นการเบียดเบียนคนที่ยังไม่เกิด ถึงแม้ว่าเราจะไม่เดือดร้อน แต่คนที่ยังไม่เกิดก็เดือดร้อน แล้วต้องรับผิดชอบคนที่ยังไม่เกิดด้วย

เมื่อเราเลิกคิดว่าฉันจะได้ ฉันจะเอา ฉันจะเป็น ฉันจะ… คำว่า ‘ฉัน’ ‘เรา’ นี่จะจางลงไป เราก็จะมีความซาบซึ้งในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆทั้งหลาย แล้วจิตจะน้อมไปเพื่อเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ตลอดเวลา ไปที่ไหน มองเห็นอะไร มันก็เป็นธรรมะไปหมดเลย ยังไม่ต้องคิดมันก็เป็นเองเลย คือจิตใจที่สงบน้อมไปเพื่อเห็นความจริงของธรรมชาติ เห็นความจริงของตัวเอง ที่จริงนั้นความจริงนั้นเป็นความสบาย
ธรรมะเป็นที่พึ่งอันแท้ เราจะเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้ จะเอาปรัชญาเป็นที่พึ่งไม่ได้ จะเอาคนที่เรารักเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ ก็เพราะในที่สุดเราต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรารักที่เราชอบ ที่เราเพลิดเพลินดี ธรรมะเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งอันแน่นอน

เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้สอนคนอื่น ผู้สอนปรัชญา พยายามสอนปรัญชาในแนวทางที่คนได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต อย่าให้มันเป็นความคิดเฉยๆ อย่าให้มันเป็นทฤษฎีเฉยๆ แต่ให้เอามาพิสูจน์ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เรารู้และเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ ทุกวันนี้ก็สอนอย่างงูๆ ปลาๆ ผิดๆ ถูกๆ ก็เลยเกิดปัญหา อันที่จริงถ้าเราเป็นพุทธแล้ว สังคมมันจะไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ปั่นป่วนอย่างนี้ เราเป็นพุทธแต่ชื่อ



ถาม: (นาทีที่ 30:15 - นาทีที่ 30:43 เสียงเบา จึงไม่สมารถถอดคำได้)
ตอบ: คือที่จริง ความเชื่อหลัก คือความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วอันนั้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นคน เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น หมายถึงเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในการจะพ้นจากความทุกข์ การเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ คือ การเชื่อในศักยภาพของตัวเอง เพราะฉะนั้นศรัทธาหรือความเชื่อหลักของพุทธศาสนิกชน คือเชื่อในตัวเอง เชื่อว่าตัวเองละบาปได้ ตัวเองบำเพ็ญกุศลได้ ตัวเองชำระจิตใจของตนได้ อันนี้เป็นความเชื่อหลักที่เราขาดไม่ได้

เรื่องของกรรมนั้น ความเชื่อจะมั่นคง ต่อเมื่อเราคอยติดตามพฤติกรรมของตัวเอง คอยดูจิตใจของตนเองตลอดเวลา ถ้าไม่มีการภาวนา ไม่มีการดูตัวเอง เราคงไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล แต่ถ้าเรามาอยู่ในวัดหรืออยู่เงียบๆ แล้วภาวนามากๆ แล้วมันจะเห็นชัดเลย คือถ้าเราทำอย่างนี้มันก็มีผลอย่างนี้ จะเห็นว่าถ้าเราทำอะไรด้วยจิตใจที่เศร้าหมอง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ ทำอะไรที่จิตใจสะอาด ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีความโปร่งใส ผลที่ออกมาก็ดี เราก็สบาย คนอื่นก็สบาย เอาแค่นี้ก่อน คือติดตามการกระทำของตัวเองในปัจจุบัน

แต่ว่าเรามีหลัก เราเชื่ออะไร เชื่อได้ไม่ห้าม แต่อย่าไปเรียกความเชื่อว่าเป็นความรู้ สิ่งที่เรารู้ คือเรารู้ว่าเรารู้สิ่งนั้น สิ่งที่เราไม่รู้ เราก็รู้ว่าเราไม่รู้ในสิ่งนั้น อันนี้ไม่มีปัญหา เราเชื่อว่าสิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ เช่น ตายแล้วเกิด เป็นต้น ทีนี้เราไม่มีญาณพอที่จะรู้ว่าสิ่งนี้จริงหรือเปล่า แต่ว่าเราค้นคว้า เราก็อ่านหนังสือ อ่านพระไตรปิฏก คุยกับพระ คุยกับผู้ที่มีความรู้ เสร็จแล้วเราอาจจะตัดสินใจว่าเราจะเชื่อในสิ่งนี้ แต่ยอมรับว่าเป็นแค่ความเชื่อ แล้วความเชื่อเกิดจากข้อมูลที่เรารับมา แล้วพร้อมที่จะรับฟังคนที่จะไม่เชื่อ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา


ถาม: (นาทีที่ 33:44 - นาทีที่ 33:54 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: คือ ความเชื่อกรรม คือเราไม่ได้เชื่ออะไรตลอดเวลานะ คือเราอาจจะเชื่อกรรมจนกระทั่งกิเลสเกิดขึ้น แล้วก็ไม่เชื่อในขณะนั้น เพราะว่าเชื่อนั้นเป็นสังขาร แต่ว่าหลายคนก็เชื่อกรรม ถ้าถามว่าเชื่อกรรมไหม? เชื่อ..

แต่พอเกิดกิเลสขึ้นมาก็โกรธขึ้นมา ก็สามารถที่จะตีคนอื่นฆ่าคนอื่น เพราะในขณะที่มีอารมณ์นี้มันไม่เชื่อ เพราะความเชื่อมันเกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัย พอจะเรียกว่าคนไม่นับถือศาสนาพุทธ อันนี้เราจะพูดในระดับสมมุติก็ได้ แต่ว่าเรานับถือเราศรัทธาในขณะที่เรามีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ว่าอาจจะมีในวันหนึ่ง หลายวินาทีหรือหลายนาทีที่เราไม่เป็นชาวพุทธ เป็นเดียรถี หรือเราเป็นคนที่ไม่มีศาสนา คือมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่การที่พระพุทธเจ้าเน้นหนักเรื่องกรรม ก็เพราะว่า การที่เราจะพ้นจากความทุกข์นั้นอยู่ที่ความเพียร การที่จะพ้นจากความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ในสมัยพระพุทธกาลก็มีบางลัทธิบอกไม่ต้องทำ มันจะเป็นเองก็อยู่ไปเรื่อยๆ มันจะคอยบริสุทธิ์เองโดยประสบการณ์ ไม่ต้องทำอะไร
พระพุทธองค์ท่านแยกศาสนามีสามอย่าง คือ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสมบูรณ์ แล้วก็มีศาสนที่อาตมาก็ไม่ใช่นักศึกษาภาษาบาลี แต่ว่ามันเป็นศาสนาที่เลวก็ว่าได้ ไม่มีส่วนดี แล้วก็มีศาสนาที่ดีแต่ไม่สมบูรณ์ เช่น ศาสนาที่มีในโลกทุกวันนี้เป็นศาสนาที่ไม่สมบูรณ์

ส่วนศาสนาที่เลวนั้นบอกว่าไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ ซะ ชีวิตก็สั้น กินให้มากๆ อยู่ให้สบายๆ หรือชีวิตที่เรียกว่าตายแล้วขาดสูญ (นาทีที่ 36:12) จะทำความเพียรทำไม มันลำบากเปล่าๆ ทำหรือไม่ทำก็ตายเหมือนกัน

ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องกรรม คือ การกระทำ กรรมคือเจตนา แล้วเชื่อคุณภาพชีวิตก็อยู่ที่คุณภาพของเจตนาของเรา ถ้าเรามีเจตนาที่ดี เจตนาที่มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เรามีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลส เจตนานั้นคือตัวกรรม แล้วมันก็ต้องมีมโนกรรม ซึ่งมันเป็นเจตนาที่ดีอย่างนี้ มันก็จะต้องมีผลอยู่ในการกระทำการพูด เพราะว่ามันจะเกิดจากจิต ซึ่งเป็นตัวปรุงคุณภาพชีวิตที่สำคัญที่สุด

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงสอนอยู่เสมอว่า เราไม่ใช่อะไร  เพราะเราเรียกว่าเป็นอย่างนั้น แต่เราเป็นด้วยการกระทำ เราไม่ใช่ชาวพุทธ เพราะเราเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ว่าเราเป็นชาวพุทธด้วยการกระทำ ด้วยความพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเป็นชาวนาด้วยการทำนา เราเป็นพ่อค้าแม่ค้าด้วยการค้า เราเป็นอะไรก็เป็นด้วยการกระทำ คือการกระทำเป็นตัวกำหนดชีวิตว่าจะเป็นไปในทางที่ดีหรือชั่ว ไม่ทราบว่าตอบตรงจุดไหม


ถาม:  (นาทีที่ 38:06 - นาทีที่ 38:09 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: ตัวเองก็ต้องรู้จักจุดอ่อนของตัวเอง แต่ว่าก็ไม่รู้จักยอมรับ เพิ่งมาบอกครั้งแรก  (นาทีที่ 38:11 - 38:17) คือ การใช้ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารความหมาย แต่ว่าอีกส่วนคือคุณธรรมของผู้พูด แล้วก็สัมผัสเหมือนกัน ถ้าใครไม่พูดอะไร เราก็มี sense เราก็มีอะไรที่มันรู้ว่าคนนั้นพูดด้วยความจำ หรือว่าพูดด้วยความรู้ หรือพูดจากประสบการณ์ของตน บางครั้งเราอาจจะฟังเทศน์ของพระก็เหมือนกัน พระพูดเก่ง ใช้ภาษาดี เล่านิทาน หรืออะไรต่ออะไรดีมากเลย แต่ว่ามันไม่ถึงใจ ฟังแล้วก็แล้วไป แต่ว่าบางองค์นั้นพูดไม่กี่คำ พูดสั้นๆ แต่ว่าจำได้ตลอดชีวิต ทำไมมันต่างกันอย่างนี้ เพราะว่าเราสัมผัสแต่ละคำที่ออกจากปากของท่านนี่ออกจากความจริง ออกจากสิ่งที่ท่านสัมผัสเอง เพราะฉะนั้นในการสื่อสารสั่งสอนนั้น คุณธรรมของเรานี้มีส่วนที่สำคัญมากเลย มันจะเป็นตัวที่กำลังวัดว่าคำพูดของเรานั้นมีน้ำหนักหรือไม่มีน้ำหนัก 


ถาม: (นาทีที่ 39:41 - นาทีที่ 39:50 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: อันที่จริงนะ ถ้าพูดถึงคนสอนปรัชญานั้น อย่างน้อยต้องเป็นผู้สมาทานศีล 5 เป็นประจำ ถ้าคนสอนศาสนารักษาศีล ๕ ไม่ได้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

ถาม: (นาทีที่ 40:03 - นาทีที่ 40:12 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: นั่นไม่ได้ทำให้เราพ้นจากความเป็นไทย หรือความเป็นฝรั่ง เพราะเราไม่เป็นสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว แล้วก็พ้นจากความเชื่อว่า เราเป็นสิ่งนั้น


ถาม: ก่อนที่จะมาเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นฝรั่ง แต่พอมาเป็นพระไทย ในสากลก็เป็นพระ (นาทีที่ 40:28 - นาทีที่ 40:46 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: ใช่ เราก็ไม่ได้เป็นอะไร คืออาตมาแปลกตั้งแต่เป็นเด็ก มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไร แต่ว่าอาตมาชอบภาษาไทยนี้มีความลึกซึ้งมาก คือ ถ้าพูดถึงเพศในภาษาอังกฤษ มี Male Female แต่ว่าภาษาไทยมีเพศชาย เพศหญิง กับสมณเพศ ซึ่งถ้าเป็นสมณะแล้ว ผู้ชายก็ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ผู้ชายใช่ไหม (นาทีที่ 41:27 - นาทีที่ 41:39 เสียงเบา) คือ การปฏิบัติอย่างนี้ ก็มีผลในเรื่องความยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นอะไร

บางทีก็มีความรู้สึกชาตินิยมจะมาแฝงอยู่ในเรื่องพุทธศาสนา หลายคนมาถามอาตมาว่าอยู่เหมืองนอกที่อังกฤษมีวัดไทยไหม อาตมาก็บอกว่าไม่มีวัดไทยเลย มีแต่วัดพุทธนะ 

มันต่างกันที่เมืองนอกคนที่จะเข้าวัดจะเป็นคนมีการศึกษาเกือบทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เราสามารถสอนธรรมะชั้นสูงได้ เพราะว่าส่วนมากชาวตะวันตกจะสนใจเรื่องการภาวนาและเรื่องปรัชญาเสียมาก ส่วนเรื่องทานและเรื่องศีลเขายังไม่ค่อยเข้าใจ เหมือนเริ่มจากที่สูง แต่สิ่งที่สนใจมากที่สุด คือ เรื่องภาวนา เพราะเขารู้สึกว่าจิตใจไม่สงบวุ่นวาย ต้องการหาวิธีที่จะระงับความวุ่นวาย

แต่ว่าถ้าเราพูดถึงกลุ่มปัญญาชน รู้สึกว่าการเผยแพร่กำลังได้ผล แต่ว่าการที่พุทธศาสนาจะแพร่หลายในทุกระดับของสังคมคงจะไม่ได้ แต่ว่าอาตมาเห็นในอนาคตว่า คนชั้นสูงในสังคมตะวันตกจะเป็นพุทธเสียมาก ส่วนมากคิดว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น และถ้าดูในมหาวิทยาลัยหรือพวกนักวิชาการหรือพวกนักปราชญ์ในทุกวันนี้ ศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากเกือบทุกสาขาทุกวิชาการ


ถาม: (นาทีที่ 43:53 - นาทีที่ 44:04 เสียงเบา)
ตอบ: คือในเรื่องศีล ท่านก็สอนว่า ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้คนอื่นฆ่า ไม่ส่งเสริมการฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า แล้วเราก็ต้องส่งเสริมคุณงามความดี แต่ว่าบางทีสำหรับฆราวาสเราก็พูดไม่มีใครฟัง คือตัวเองก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะมีผลต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งบางคนก็เลยเห็นว่าทำปฏิบัติส่วนตัว แล้วก็อย่างน้อยก็มีผลต่อครอบครัวของตนและคนใกล้ชิด ซึ่งคือโลกของแต่ละคน โลกของเราก็คือโลกที่เรารู้จัก โลกที่เราเกี่ยวข้อง
แต่ว่าอาตมาเองก็รู้สึกว่าบางครั้งเราสับสนในเรื่องหน้าที่ของพระกับหน้าที่ของชาวบ้านหรือฆราวาส แต่บางทีบางสิ่งบางอย่างพระไม่ควรเกี่ยวข้องนั้น พระวินัยห้าม ก็เป็นอันว่าคนไปเข้าใจว่าชาวพุทธทั้งหมดไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องสถาบันสงฆ์อย่างเดียว ซึ่งบางสิ่งบางอย่างพระทำไม่ได้ แต่ว่าเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่ต้องทำ


อาตมาเองก็รู้สึกว่าบางครั้งเราเอาการปฏิบัติธรรมเหมือนกับเอาไว้ในลิ้นชัก แล้วก็เหมือนว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลย เหมือนเป็นคนละเรื่อง ซึ่งอันนี้ก็ไม่ถูก ถ้าเรามีความจริงใจในการที่จะมีสังคมพุทธ ที่จะสร้างสังคมพุทธ เราจะเอาอะไรเป็นหลักสำคัญ ทีนี้เราต้องมาตกลงกันในเรื่องนี้ อาตมาพิจารณาว่า สองข้อที่สำคัญที่สุดในความคิดของอาตมา คือ
๑)    การไม่เบียดเบียน รวมถึงการมีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
๒)  สัจจะ คือ จะเห็นว่าในการเจริญบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็ผิดพลาดและท่านก็ถอยหลังมาหลายครั้ง แต่ว่ามีบารมีข้อเดียวที่ท่านไม่เคยพลาดเสีย คือ สัจจะ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมขึ้นว่า การพูดจริง การไม่บิดเบือน การไม่โกหก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของชาวพุทธ
การกระทำถ้าเราเห็นว่า คนโกหกอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุดเลย แล้วก็ไม่ควรจะมีตำแหน่งและรับผิดชอบต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกวันนี้การโกหกที่สัมผัสเห็นว่าเป็นของธรรมดา นักการเมืองทั้งหลาย


ดังนั้นเราต้องส่งเสริมคุณงามความดี ส่งเสริมแต่การกระทำ แล้วก็บางครั้งเราต้องมีการเสียสละ แต่ว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร เราก็รู้เท่าทัน เราต้องรู้เท่าทันตามความเห็นว่าเป็นทิฐิ ความเห็นที่เราอาจจะผิดก็ได้ ข้อมูลอาจผิด อาจไม่ครบการวินิจฉัยข้อมูลอาจผิดก็ได้





ชื่อเรื่อง  สนทนาธรรมกับครู
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕
ผู้ถอด นันทนา วนาธรรม
ผู้ตรวจทาน -

** หมายเหตุ: เอกสารจากการถอดเสียงฉบับนี้ยังไม่ได้รับการตรวจทานอย่างเป็นทางการ

No comments:

Post a Comment