Wednesday, May 29, 2013

สนธนาธรรมกับครู โดยพระอาจารย์ชยสาโร (๑)

สนธนาธรรมกับครู
โดยพระอาจารย์ชยสาโร
Wat Pah Nanachat
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕

            อันที่จริงการที่อาตมาสนใจหรือมาฝึกหัดปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ก็เพราะว่ารู้สึกเบื่อหน่ายในปรัชญา ซึ่งก็รู้สึกขำดีว่าในประเทศไทยเอาทั้งสองอย่างมารวมกันอย่างนี้

ตอนอาตมาเป็นนักเรียน สมัยเป็นเด็กสุขภาพไม่ดี เป็นโรคหืด ฉะนั้นเลยต้องขาดโรงเรียนบ่อย เลยเกิดนิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ ชอบคิด เป็นนักคิดนักค้นคว้า แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราเกิดมาทำไม เราจะใช้ชีวิตนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่สังคม แก่โลก จะอยู่อย่างไร ชีวิตที่ดีงามมีไหม ชีวิตอันประเสริฐดีมีไหม

ตอนนั้นอาตมาก็เป็นชาวอังกฤษ เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งทุกวันนี้คนชั้นนี้ก็ไม่ค่อยมีศาสนา  ก็อยู่เฉยๆ ขึ้นทะเบียนเป็นชาวคริสต์ แต่ว่าเข้าโบสถ์เฉพาะวันคริสมาสต์ปีละครั้ง คนอังกฤษก็มักจะเป็นอย่างนี้   เพราะฉะนั้นปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของศาสนา เรื่องที่ศาสนาจะช่วยได้

แต่บ้านของอาตมาอยู่ใกล้ๆ เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านหนังสือ ดังนั้นทุกวันเสาร์อาตมามักจะนั่งรถเมล์เข้าไปในเคมบริดจ์ เข้าไปในร้านหนังสือ อ่านหนังสือตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น พอดีที่เคมบริตจ์ส่วนมากคนที่ทำงานในร้านหนังสือเป็นศิษย์เก่า เคยยากจนมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเขาเห็นนักเรียนนักศึกษา ไม่มีสตางค์ซื้อหนังสือ เขาก็ไม่รบกวน ก็หยิบหนังสือออกมาอ่าน พอถึงเที่ยงรู้สึกหิวข้าวก็เก็บหนังสือไว้ที่เดิม ไปกินข้าว บ่ายโมงก็กลับมาอ่านต่อ อ่านหนังสือไปหลายเล่ม โดยไม่ต้องเสียสตางค์เลย

แต่ตอนนั้นเราเป็นคนแสวงหาหรือว่าค้นคว้าโดยไม่มีจุดหมายที่แน่ชัด อ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปเกือบทุกศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จิตศาสตร์ (นาทีที่ 3:32) อะไรๆ ทุกอย่าง ปรัชญาก็อ่าน แต่รู้สึกว่าอ่านปรัชญาแล้วปวดหัว เราอ่านมากเหมือนกัน แต่ว่ากลับรู้สึกว่า มีความรู้มากขึ้น แต่สิ่งที่รู้น้อยลง คือการที่จะได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตน้อยมาก

เมื่อวานนี้ฟังอาจารย์เสถียรพงศ์ (นาทีที่ 4:10) พูดถึงความละเอียดในการใช้ภาษาบาลีของคนที่ได้เปรียญ ๙ ประโยค รู้สึกว่าคล้ายกับนักปรัชญาในสมัยปัจจุบัน พวกที่เขาเรียกว่า logical protectialism (นาทีที่ 4:30) ซึ่งส่วนมากเขาจะวิเคราะห์เรื่อง ภาษา ความหมายของภาษา การใช้ภาษา มากกว่าอย่างอื่น หรืออีกพวกที่เรียกว่า existentialism (นาทีที่ 4:43) ซึ่งเขาก็ซาบซึ้งในเรื่องของความทุกข์ แต่ว่าหยุดชะงักที่ความทุกข์ ไม่ได้ไปไหน แต่เรารู้สึกว่าเรื่องปรัชญาวนเวียนไม่ไปไหน

วันนึงเจอคำสอนของพระพุทธองค์ ก็สะดุ้งเลย มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นความจริงที่เราเคยรู้มาก่อน คือไม่มีความรู้สึกว่าเป็นปรัชญาของชาวตะวันออกหรือเป็นของเอเชีย แต่รู้สึกว่ามันเป็นความจริงที่เป็นสากล มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่เรายังไม่เคยสัมผัส ความรู้สึกก็ไม่ใช่ว่าเรามาพบของใหม่ แต่เรามาสัมผัสกับของเก่า  เหมือนเรามาเจอคนที่เคยรัก คนที่เราเคยเป็นอาจารย์ คนที่เป็นกัลยาณมิตรมาก่อน ก็รู้จักกัน พอใจ

แล้วถ้าถามว่าประทับใจคำสอนข้อไหน ประทับใจหมดทุกข้อ แต่ว่าจะยกสองข้อมาพูดตรงนี้ ข้อแรก คือ ‘เอหิปัสสิโก’ และข้อสอง คือ ‘โอปนยิโก’      ชอบมากว่าคำสอนของพระพุทธองค์ ชวนเราดู ไม่ได้ชวนเราเชื่อ ให้เกียรติแก่เราในฐานะที่เราเป็นนักศึกษานักค้นคว้า อนุญาติให้เราวิพากษ์วิจารณ์ อนุญาติให้เราสงสัย ซึ่งถ้าเป็นศาสนาคริสต์ ถือว่าความสงสัยคือบาป เป็นความเย่อหยิ่งของคนขาดศรัทธา ที่นี้อ่านบทที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “แม้นจะเป็นคำสอนของพระตถาคตก็อย่าเพิ่งไปเชื่อ อย่าเชื่อง่าย” อันนี้รู้สึกโล่งใจ แล้วเราชอบ

มีอีกคำหนึ่งซึ่งทำให้รู้สึกต่างจากปรัชญาที่เคยศึกษามา คือ โอปนยิโก มันเป็นธรรมะที่น้อมเข้าไป หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือเป็นธรรมะที่ดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งความเป็นอิสระ คือ ธรรมะต้องเป็นสิ่งที่ต้องปรากฎในสิ่งที่เราทำคำที่เราพูด ความรู้สึกนึกคิดของเราตลอดเวลา ชอบที่ธรรมะเป็นวิธีการฝึกปรือตนที่สมบูรณ์ ชัดเจน ละเอียดอ่อน ซึ่งในศาสนาอื่นรู้สึกว่า ท่านมีอุดมคติ อุดมการณ์ที่สูง น่าฟัง แต่ว่าขาดอยู่ที่วิธีการที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์

เพราะฉะนั้นความรู้สึกประจำจิตประจำใจของชาวตะวันตก ซึ่งชาวตะวันตกเห็นเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติธรรม คือ ความรู้สึกที่เรียกว่า yoke (นาทีที่ 9:00)  ชาวตะวันออกที่ไม่เคยเติบโตในวัฒนธรรมตะวันตก จะไม่มีทางเข้าใจคำนี้อย่างลึกซึ้ง มันเป็นคำที่จะอธิบายยาก ถ้าจะอธิบายลึกๆ มันเป็นความรู้สึกว่าตัวเองที่จริงแล้วไม่ดี เหมือนจิตเดิมแท้ของตนเองเป็นของสกปรก พร้อมที่มองตัวเองในแง่ร้ายอยู่เสมอ ถ้าตัวเองทำอะไรดี ก็จะคิดว่าเป็นความแปลกปลอม ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากจิตใจที่แท้จริง คือสงสัยในความดีของตนตลอดเวลา มีความรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้
ซึ่งถ้าพูกถึงชาวตะวันตกที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ศรัทธาแรงกล้าเหมือนกันแต่ชาวตะวันตกจะสงสัยในข้อนี้ว่า ตนเองเป็นคนไม่ดี มีกิเลสมาก คงไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้ นี่คืออุปสรรคของชาวตะวันตก หรืออาจจะเป็นของชาวตะวันออกก็ได้ แต่ว่าชาวตะวันออกส่วนมากจะอ่านบุญอ่านบารมีมากกว่า

แต่อาตมามีความรู้สึกประทับใจซาบซึ้งความเรียบง่ายของคำสอนของพระพุทธองค์
แล้วมีพุทธบทข้อหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่ามีความสำคัญมากที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราไม่ได้สอนอะไรมากมาย เราสอนแต่ความทุกข์ และวิธีดับแห่งความทุกข์”

พวกเราก็คงเคยได้ยินได้ศึกษาพระไตรปิฎก คงได้เจอบ่อยที่พวกนักปรัชญาต่างๆทั้งหลายก็มาถามปัญหาเรื่อง โลกนี้เที่ยง หรือไม่เที่ยง หรือทั้งเที่ยงทั้งไม่เที่ยง หรือเที่ยงก็ไม่ใช่ ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่ ถามอะไรสารพัด พระพุทธองค์ไม่ยอมตอบ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ชีวิตมันสั้นเกินไปที่จะคุยเรื่องนี้ เราพูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันดีกว่า ให้เรามาดูความทุกข์ ให้เรามาหาทางที่จะพ้นจากความทุกข์”

แต่หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระบางองค์บางกลุ่มไม่พอใจ ก็เลยมาเล่นปรัชญา ถ้าเราดูในพระไตรปิฎกทางมหายานใหญ่โตมโหฬาร อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืนตลอดชีพก็อ่านไม่จบ แต่ฝ่ายเถรวาทเราจะเห็นว่า การขยายความในพระไตรปิฏกมีน้อย ถ้ามีก็มีในพระอภิธรรม และก็มีวิสุทธิมรรค (นาทีที่ 13:06) แล้วก็มีอรรถกถา (นาทีที่ 13:07) แต่ไม่มาก มีน้อย นักวิชาการตะวันตกบางคนถึงกับบอกว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทขาดนักปราชญ์ ขาดความสร้างสรรค์ในการขยายความของที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ไม่เหมือนฝ่านมหายานซึ่งขยายจริง ซึ่งเขามาขยายนี่พวกเราไม่เรียกขยาย เราเรียกว่า ‘ปรุงแต่ง’

แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าคำสอนของพระพุทธองค์สมบูรณ์แล้ว ถ้าไม่สมบูรณ์ พระพุทธองค์ก็ไม่ยอมปรินิพพาน ก็ไม่มีอะไรขาดไม่มีอะไรเกิน คำสอนของพระพุทธองค์พอดี พอดีแก่การพ้นจากความทุกข์
อาตมาเองมีความเชื่อมั่นในข้อนี้จนกระทั่งเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ เรื่องปรัชญา เรื่องอะไรต่ออะไร รู้สึกไม่สนใจเสียแล้ว เพราะว่าศาสนาพุทธของเราไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรบกพร่อง เพียงแต่ว่าเราเข้าไม่ถึงตัวแทนของศาสนา หรือแก่นสารของศาสนา แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือชีวิตที่ไร้ทุกข์มีอยู่แล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เลิกเรียนปรัชญา ก็คือ อ่านประวัติของนักปรัชญา แล้วหมดศรัทธาเลย คือ บางคนที่ปรัชญาสูงมาก เช่น Schopenhauer (นาทีที่ 15:21) เอาคำสอนของพระพุทธศาสนา คำสอนของอุปนิษัท (Upanishads) (นาทีที่ 15:25) คำสอนของตะวันตกมาผสมผสานกัน รู้สึกว่าเป็นปรัชญาที่ดีมาก แต่ว่าตัว Schopenhauer เองเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก เขา…(นาทีที่ 15:41 - นาทีที่ 15:45)  เป็นคนที่ไม่ดีพูดง่ายๆ
เห็นหลายคนที่คิดสูง แต่การกระทำไม่สูง หลวงพ่อชาท่านเคยเปรียบคนประเภทนี้ว่า เหมือนอีแร้ง อีแร้งมันบินสูง แต่ว่ามันกินอะไร บินลงมากินซากศพ ของสกปรก คือคิดสูง แต่ใครๆ ก็คิดสูงได้ มันไม่ยากหรอก แต่ว่าจะให้ความคิดสัมพันธ์กับการกระทำ ให้อุดมคติที่ตัวเองเชิดชูหรือนับถือปรากฏในชีวิตนี่ยาก
นี่แหละที่เราเห็นความสำคัญของการปฎิบัติธรรม ทำไมเราจึงมีความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เราเห็นว่าดีกับสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็อยู่ที่การบกพร่องของจิตใจ จิตใจเราไม่เข้มแข็ง จิตใจมันอ่อนแอ จิตใจของเรามันชอบหลงอารมณ์ มันเห็นอารมณ์กับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้สึกอย่างไรก็เชื่อว่าความรู้สึกอันนั้นคือเรา คือของเรา

อันนี้ไม่มีความงมงายที่ร้ายกาจ หรือที่จะมีโทษเท่าความเชื่องมงายในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ในทิฐิความเห็นของตัวเอง

ฉะนั้นวิชชาหรือศิลปะอันสำคัญหรือจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์ คือ การถอยออกจากกระแสความคิดให้ได้มุมมองใหม่ รู้จักถอดหน้ากากที่เราต้องสวมในชีวิตประจำวันมาดูใหม่ การถอยออกจากหน้าที่ หรือหน้ากากหรือบทบาทที่เราแสดงในชีวิตประจำวัน มาทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสดใส ทำให้เราเกิดปัญญาว่าความรู้สึกก็แค่ความรู้สึกเท่านั้นเอง

ก็ลองดูความรู้ที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์สามารถมีได้คืออะไร คือสิ่งที่ยากที่สุด สิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด คือสิ่งที่ง่ายที่สุด คือสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา แค่นี้ก็เป็นพระอริยะเจ้าแล้ว

แต่ว่าเราต้องพัฒนาจากระดับสัญญา ความคิดไปสู่ระดับการสัมผัส การทะลุปรุโปร่ง การรู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบ ว่าปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญญาเกิดขึ้นจากจิตที่สงบ ถ้าจิตไม่สงบ จิตยังฟุ้งซ่าน จิตยังถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตนั้นไม่สามารถวินิจฉัย หรือว่าวิเคราะห์อะไรตามความเป็นจริง เพราะว่านิวรณ์ก็ทำให้การรับรู้ ทำให้การพิจารณาบิดเบือนตลอดเวลา

ถ้าอย่างนั้นเราจะเรียกพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ว่ามันเรื่อยไปอีก เพราะส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็มี สิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็มี วิทยาศาสตร์มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ตัวนักวิยาศาสตร์เอง พระพุทธศาสนาสอนว่าต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วย แต่ต้องรู้ผู้รู้ด้วย ไม่ใช่สนใจแต่สิ่งที่เรารู้ แต่เราต้องรู้ตัวผู้รู้ด้วย เราจึงจะเห็นตามความเป็นจริง เพราะตัวผู้รู้จะมีผลต่อสิ่งที่เรารู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเปรียบเทียบ ไม่ต้องแยกระหว่างศาสนาหรือปรัชญาตะวันออก ศาสนาปรัชญาตะวันตก อันนี้ก็เป็นพวกวิชชาวนเวียน

(มีต่อ)

No comments:

Post a Comment