Wednesday, May 29, 2013

สนธนาธรรมกับครู โดยพระอาจารย์ชยสาโร (๒)

แต่เราพูดถึงวิชชาหรือปรัชญาหรือศาสนาของพระอริยะเจ้า กับศาสนาปรัชญาของปุถุชน เราต้องยอมรับว่าศาสนา ปรัชญา จิตศาสตร์อะไร วิทยาศาสตร์ ทุกศาสตร์ของชาวตะวันตกล้วนเป็นของปุถุชนร้อยเปอร์เซ็นเลย มันก็มีความดี มีความละเอียดลึกซึ้ง แต่เป็นความลึกซึ้งของปุถุชน เพราะทุกคนที่คิด เขาคิดโดยความเชื่อในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ว่าเป็นตัวเรา คือ มีสังคายทิฐิ (นาทีที่ 21:55) คือ ยังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะฉะนั้นปรัชญาหรือคำสอนที่น้อมจิตใจเราเป็นสู่ความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของชาวพุทธ ก็เป็นคำสอนที่เกิดจากจิตใจที่ปราศจากกิเลส

ฉะนั้น เราศึกษาทั้งปรัชญาหรือทั้งอะไรต่ออะไรก็ได้ แต่ว่าเรามองในฐานะเป็นของระดับตัว How (นาทีที่ 22:42) สิ่งที่มีแก่นสาร สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ก็อยู่ที่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมันก็กลายเป็นเรื่องของความคิด เช่น ชาวพุทธหลายคนชอบดูถูกคนที่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าว่า เขางมงายในพระเจ้า งมงายในคัมภีร์ไบเบิ้ล ไม่เหมือนศาสนาของเราเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล แต่ว่าตัวเองเคยใช้เหตุใช้ผลซะทีไหม ไม่เคยใช้ เขาเรียกว่าเชื่องมงายในเหตุผล คนเชื่องมงายในเหตุผล กับคนเชื่องมงายในพระเจ้า ใครเก่งกว่ากัน ใครดีกว่ากัน พอๆ กัน

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาต้องย้ำเรื่องปัญญา รักษาศีลต้องมีปัญญา รู้ว่าเรารักษาทำไม รู้คุณของการรักษา รู้โทษของการไม่รักษา ให้ทานก็มีปัญญา รู้ในสิ่งที่ควรให้ ไม่ควรให้ อะไรๆต้องมีปัญญากำกับตลอดเวลา มันจึงจะเป็นพุทธศาสนาที่มุ่งที่ปัญญา นั่งสมาธิภาวนา ไม่ได้นั่งเพื่อเห็นนั่นเห็นนี่ เพื่อที่จะได้เที่ยวสวรรค์เที่ยวนรก หรือจะเป็นผู้วิเศษ แต่นั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตใจมีความมั่นคง แน่วแน่ มีความมั่นคงพอที่จะมีความวางเฉยต่ออารมณ์

เมื่อจิตใจไม่มีความหวั่นไหวต่ออารมณ์ จิตใจจะเห็นอารมณ์ตามจริง แล้วก็จะเบื่อหน่ายในความยึดมั่นยึดถือในอารมณ์ ในการถือในกรรมสิทธิ์ของอารมณ์ ว่านั่นเป็นของเรา นั่นคือของเรา ความทุกข์มันอยู่ตรงนี้ และพุทธศาสนาสอนง่ายๆ เรื่องทุกข์ เรื่องการดับความทุกข์ ตอนนี้เรามีความทุกข์ไหม
เมื่อเราเกิดความทุกข์เราทำอย่างไร เราอยากลบเลือนไหม เราปฏิเสธไหม เราพยายามหนีจากความทุกข์ไหม แล้วเรามีศรัทธาพอเพื่อจะเผชิญหน้ากับความทุกข์ นี่คือทุกข์ เมื่อเราเห็นทุกข์ เราก็เห็นเหตุให้เกิดกับความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็นิ่งดูความทุกข์ นี่คือความทุกข์ นี่เรารู้ว่าความทุกข์เกิดเพราะอะไร ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนนั้นคนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งใดนอกจากความคิดผิดของตนเอง ขณะนี้เรากำลังมีความคิดผิดอย่างไร เดี๋ยวนี้เรากำลังมีความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร นี่คือเรื่องทุกข์

และเรื่องเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ก็มีการปฏิบัติ สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้เราก็ต้องยอมรับ สิ่งที่เราแก้ไขได้เราก็ปฏิบัติเพื่อจะแก้ไข มีสติ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังพูดอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร พูดเพื่ออะไร คิดเพื่ออะไร มีความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน ให้ธรรมะปรากฏในความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเรา ธรรมะต้องปรากฎในการสัมพันธ์กับครอบครัว ในการสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การสัมพันธ์กับธรรมชาติ
เมื่อเรามีสติ ไม่ได้ปรากฏ .. (นาทีที่ 26:40) ตัวตน ผลประโยชน์ของตัวตน เปิดจิตกว้างออกไปรับรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย เราจะได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะเห็นว่าการเบียดเบียนเขาก็เหมือนกับการเบียดเบียนตัวเอง ในการเบียดเบียนธรรมชาติ ก็คือ การเบียดเบียนตัวเอง

เราจะเห็นความสำคัญของคนที่ตายไปแล้วซึ่งเป็นบรรพบุรุษ ซึ่งเราจะมีความกตัญญูกตเวที พยายามรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของประเทศไทยไว้ แล้วเราจะมีการใช้สอยอย่างประหยัด ก็จะมีความเคารพต่อธรรมชาติ ถ้าเราปล้นธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ในฐานะปัจจุบัน เป็นการทำลายอนาคตของประเทศชาติ เป็นการเบียดเบียนคนที่ยังไม่เกิด ถึงแม้ว่าเราจะไม่เดือดร้อน แต่คนที่ยังไม่เกิดก็เดือดร้อน แล้วต้องรับผิดชอบคนที่ยังไม่เกิดด้วย

เมื่อเราเลิกคิดว่าฉันจะได้ ฉันจะเอา ฉันจะเป็น ฉันจะ… คำว่า ‘ฉัน’ ‘เรา’ นี่จะจางลงไป เราก็จะมีความซาบซึ้งในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆทั้งหลาย แล้วจิตจะน้อมไปเพื่อเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ตลอดเวลา ไปที่ไหน มองเห็นอะไร มันก็เป็นธรรมะไปหมดเลย ยังไม่ต้องคิดมันก็เป็นเองเลย คือจิตใจที่สงบน้อมไปเพื่อเห็นความจริงของธรรมชาติ เห็นความจริงของตัวเอง ที่จริงนั้นความจริงนั้นเป็นความสบาย
ธรรมะเป็นที่พึ่งอันแท้ เราจะเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งไม่ได้ จะเอาปรัชญาเป็นที่พึ่งไม่ได้ จะเอาคนที่เรารักเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ ก็เพราะในที่สุดเราต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรารักที่เราชอบ ที่เราเพลิดเพลินดี ธรรมะเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งอันแน่นอน

เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้สอนคนอื่น ผู้สอนปรัชญา พยายามสอนปรัญชาในแนวทางที่คนได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต อย่าให้มันเป็นความคิดเฉยๆ อย่าให้มันเป็นทฤษฎีเฉยๆ แต่ให้เอามาพิสูจน์ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เรารู้และเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ ทุกวันนี้ก็สอนอย่างงูๆ ปลาๆ ผิดๆ ถูกๆ ก็เลยเกิดปัญหา อันที่จริงถ้าเราเป็นพุทธแล้ว สังคมมันจะไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ปั่นป่วนอย่างนี้ เราเป็นพุทธแต่ชื่อ



ถาม: (นาทีที่ 30:15 - นาทีที่ 30:43 เสียงเบา จึงไม่สมารถถอดคำได้)
ตอบ: คือที่จริง ความเชื่อหลัก คือความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วอันนั้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นคน เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น หมายถึงเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในการจะพ้นจากความทุกข์ การเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ คือ การเชื่อในศักยภาพของตัวเอง เพราะฉะนั้นศรัทธาหรือความเชื่อหลักของพุทธศาสนิกชน คือเชื่อในตัวเอง เชื่อว่าตัวเองละบาปได้ ตัวเองบำเพ็ญกุศลได้ ตัวเองชำระจิตใจของตนได้ อันนี้เป็นความเชื่อหลักที่เราขาดไม่ได้

เรื่องของกรรมนั้น ความเชื่อจะมั่นคง ต่อเมื่อเราคอยติดตามพฤติกรรมของตัวเอง คอยดูจิตใจของตนเองตลอดเวลา ถ้าไม่มีการภาวนา ไม่มีการดูตัวเอง เราคงไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล แต่ถ้าเรามาอยู่ในวัดหรืออยู่เงียบๆ แล้วภาวนามากๆ แล้วมันจะเห็นชัดเลย คือถ้าเราทำอย่างนี้มันก็มีผลอย่างนี้ จะเห็นว่าถ้าเราทำอะไรด้วยจิตใจที่เศร้าหมอง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ ทำอะไรที่จิตใจสะอาด ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีความโปร่งใส ผลที่ออกมาก็ดี เราก็สบาย คนอื่นก็สบาย เอาแค่นี้ก่อน คือติดตามการกระทำของตัวเองในปัจจุบัน

แต่ว่าเรามีหลัก เราเชื่ออะไร เชื่อได้ไม่ห้าม แต่อย่าไปเรียกความเชื่อว่าเป็นความรู้ สิ่งที่เรารู้ คือเรารู้ว่าเรารู้สิ่งนั้น สิ่งที่เราไม่รู้ เราก็รู้ว่าเราไม่รู้ในสิ่งนั้น อันนี้ไม่มีปัญหา เราเชื่อว่าสิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ เช่น ตายแล้วเกิด เป็นต้น ทีนี้เราไม่มีญาณพอที่จะรู้ว่าสิ่งนี้จริงหรือเปล่า แต่ว่าเราค้นคว้า เราก็อ่านหนังสือ อ่านพระไตรปิฏก คุยกับพระ คุยกับผู้ที่มีความรู้ เสร็จแล้วเราอาจจะตัดสินใจว่าเราจะเชื่อในสิ่งนี้ แต่ยอมรับว่าเป็นแค่ความเชื่อ แล้วความเชื่อเกิดจากข้อมูลที่เรารับมา แล้วพร้อมที่จะรับฟังคนที่จะไม่เชื่อ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา


ถาม: (นาทีที่ 33:44 - นาทีที่ 33:54 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: คือ ความเชื่อกรรม คือเราไม่ได้เชื่ออะไรตลอดเวลานะ คือเราอาจจะเชื่อกรรมจนกระทั่งกิเลสเกิดขึ้น แล้วก็ไม่เชื่อในขณะนั้น เพราะว่าเชื่อนั้นเป็นสังขาร แต่ว่าหลายคนก็เชื่อกรรม ถ้าถามว่าเชื่อกรรมไหม? เชื่อ..

แต่พอเกิดกิเลสขึ้นมาก็โกรธขึ้นมา ก็สามารถที่จะตีคนอื่นฆ่าคนอื่น เพราะในขณะที่มีอารมณ์นี้มันไม่เชื่อ เพราะความเชื่อมันเกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัย พอจะเรียกว่าคนไม่นับถือศาสนาพุทธ อันนี้เราจะพูดในระดับสมมุติก็ได้ แต่ว่าเรานับถือเราศรัทธาในขณะที่เรามีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ว่าอาจจะมีในวันหนึ่ง หลายวินาทีหรือหลายนาทีที่เราไม่เป็นชาวพุทธ เป็นเดียรถี หรือเราเป็นคนที่ไม่มีศาสนา คือมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่การที่พระพุทธเจ้าเน้นหนักเรื่องกรรม ก็เพราะว่า การที่เราจะพ้นจากความทุกข์นั้นอยู่ที่ความเพียร การที่จะพ้นจากความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ในสมัยพระพุทธกาลก็มีบางลัทธิบอกไม่ต้องทำ มันจะเป็นเองก็อยู่ไปเรื่อยๆ มันจะคอยบริสุทธิ์เองโดยประสบการณ์ ไม่ต้องทำอะไร
พระพุทธองค์ท่านแยกศาสนามีสามอย่าง คือ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสมบูรณ์ แล้วก็มีศาสนที่อาตมาก็ไม่ใช่นักศึกษาภาษาบาลี แต่ว่ามันเป็นศาสนาที่เลวก็ว่าได้ ไม่มีส่วนดี แล้วก็มีศาสนาที่ดีแต่ไม่สมบูรณ์ เช่น ศาสนาที่มีในโลกทุกวันนี้เป็นศาสนาที่ไม่สมบูรณ์

ส่วนศาสนาที่เลวนั้นบอกว่าไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ ซะ ชีวิตก็สั้น กินให้มากๆ อยู่ให้สบายๆ หรือชีวิตที่เรียกว่าตายแล้วขาดสูญ (นาทีที่ 36:12) จะทำความเพียรทำไม มันลำบากเปล่าๆ ทำหรือไม่ทำก็ตายเหมือนกัน

ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องกรรม คือ การกระทำ กรรมคือเจตนา แล้วเชื่อคุณภาพชีวิตก็อยู่ที่คุณภาพของเจตนาของเรา ถ้าเรามีเจตนาที่ดี เจตนาที่มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เรามีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลส เจตนานั้นคือตัวกรรม แล้วมันก็ต้องมีมโนกรรม ซึ่งมันเป็นเจตนาที่ดีอย่างนี้ มันก็จะต้องมีผลอยู่ในการกระทำการพูด เพราะว่ามันจะเกิดจากจิต ซึ่งเป็นตัวปรุงคุณภาพชีวิตที่สำคัญที่สุด

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงสอนอยู่เสมอว่า เราไม่ใช่อะไร  เพราะเราเรียกว่าเป็นอย่างนั้น แต่เราเป็นด้วยการกระทำ เราไม่ใช่ชาวพุทธ เพราะเราเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ว่าเราเป็นชาวพุทธด้วยการกระทำ ด้วยความพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเป็นชาวนาด้วยการทำนา เราเป็นพ่อค้าแม่ค้าด้วยการค้า เราเป็นอะไรก็เป็นด้วยการกระทำ คือการกระทำเป็นตัวกำหนดชีวิตว่าจะเป็นไปในทางที่ดีหรือชั่ว ไม่ทราบว่าตอบตรงจุดไหม


ถาม:  (นาทีที่ 38:06 - นาทีที่ 38:09 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: ตัวเองก็ต้องรู้จักจุดอ่อนของตัวเอง แต่ว่าก็ไม่รู้จักยอมรับ เพิ่งมาบอกครั้งแรก  (นาทีที่ 38:11 - 38:17) คือ การใช้ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารความหมาย แต่ว่าอีกส่วนคือคุณธรรมของผู้พูด แล้วก็สัมผัสเหมือนกัน ถ้าใครไม่พูดอะไร เราก็มี sense เราก็มีอะไรที่มันรู้ว่าคนนั้นพูดด้วยความจำ หรือว่าพูดด้วยความรู้ หรือพูดจากประสบการณ์ของตน บางครั้งเราอาจจะฟังเทศน์ของพระก็เหมือนกัน พระพูดเก่ง ใช้ภาษาดี เล่านิทาน หรืออะไรต่ออะไรดีมากเลย แต่ว่ามันไม่ถึงใจ ฟังแล้วก็แล้วไป แต่ว่าบางองค์นั้นพูดไม่กี่คำ พูดสั้นๆ แต่ว่าจำได้ตลอดชีวิต ทำไมมันต่างกันอย่างนี้ เพราะว่าเราสัมผัสแต่ละคำที่ออกจากปากของท่านนี่ออกจากความจริง ออกจากสิ่งที่ท่านสัมผัสเอง เพราะฉะนั้นในการสื่อสารสั่งสอนนั้น คุณธรรมของเรานี้มีส่วนที่สำคัญมากเลย มันจะเป็นตัวที่กำลังวัดว่าคำพูดของเรานั้นมีน้ำหนักหรือไม่มีน้ำหนัก 


ถาม: (นาทีที่ 39:41 - นาทีที่ 39:50 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: อันที่จริงนะ ถ้าพูดถึงคนสอนปรัชญานั้น อย่างน้อยต้องเป็นผู้สมาทานศีล 5 เป็นประจำ ถ้าคนสอนศาสนารักษาศีล ๕ ไม่ได้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

ถาม: (นาทีที่ 40:03 - นาทีที่ 40:12 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: นั่นไม่ได้ทำให้เราพ้นจากความเป็นไทย หรือความเป็นฝรั่ง เพราะเราไม่เป็นสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว แล้วก็พ้นจากความเชื่อว่า เราเป็นสิ่งนั้น


ถาม: ก่อนที่จะมาเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นฝรั่ง แต่พอมาเป็นพระไทย ในสากลก็เป็นพระ (นาทีที่ 40:28 - นาทีที่ 40:46 เสียงเบา จึงไม่สามารถถอดคำได้)
ตอบ: ใช่ เราก็ไม่ได้เป็นอะไร คืออาตมาแปลกตั้งแต่เป็นเด็ก มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไร แต่ว่าอาตมาชอบภาษาไทยนี้มีความลึกซึ้งมาก คือ ถ้าพูดถึงเพศในภาษาอังกฤษ มี Male Female แต่ว่าภาษาไทยมีเพศชาย เพศหญิง กับสมณเพศ ซึ่งถ้าเป็นสมณะแล้ว ผู้ชายก็ไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ผู้ชายใช่ไหม (นาทีที่ 41:27 - นาทีที่ 41:39 เสียงเบา) คือ การปฏิบัติอย่างนี้ ก็มีผลในเรื่องความยึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นอะไร

บางทีก็มีความรู้สึกชาตินิยมจะมาแฝงอยู่ในเรื่องพุทธศาสนา หลายคนมาถามอาตมาว่าอยู่เหมืองนอกที่อังกฤษมีวัดไทยไหม อาตมาก็บอกว่าไม่มีวัดไทยเลย มีแต่วัดพุทธนะ 

มันต่างกันที่เมืองนอกคนที่จะเข้าวัดจะเป็นคนมีการศึกษาเกือบทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เราสามารถสอนธรรมะชั้นสูงได้ เพราะว่าส่วนมากชาวตะวันตกจะสนใจเรื่องการภาวนาและเรื่องปรัชญาเสียมาก ส่วนเรื่องทานและเรื่องศีลเขายังไม่ค่อยเข้าใจ เหมือนเริ่มจากที่สูง แต่สิ่งที่สนใจมากที่สุด คือ เรื่องภาวนา เพราะเขารู้สึกว่าจิตใจไม่สงบวุ่นวาย ต้องการหาวิธีที่จะระงับความวุ่นวาย

แต่ว่าถ้าเราพูดถึงกลุ่มปัญญาชน รู้สึกว่าการเผยแพร่กำลังได้ผล แต่ว่าการที่พุทธศาสนาจะแพร่หลายในทุกระดับของสังคมคงจะไม่ได้ แต่ว่าอาตมาเห็นในอนาคตว่า คนชั้นสูงในสังคมตะวันตกจะเป็นพุทธเสียมาก ส่วนมากคิดว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น และถ้าดูในมหาวิทยาลัยหรือพวกนักวิชาการหรือพวกนักปราชญ์ในทุกวันนี้ ศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากเกือบทุกสาขาทุกวิชาการ


ถาม: (นาทีที่ 43:53 - นาทีที่ 44:04 เสียงเบา)
ตอบ: คือในเรื่องศีล ท่านก็สอนว่า ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้คนอื่นฆ่า ไม่ส่งเสริมการฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า แล้วเราก็ต้องส่งเสริมคุณงามความดี แต่ว่าบางทีสำหรับฆราวาสเราก็พูดไม่มีใครฟัง คือตัวเองก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะมีผลต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งบางคนก็เลยเห็นว่าทำปฏิบัติส่วนตัว แล้วก็อย่างน้อยก็มีผลต่อครอบครัวของตนและคนใกล้ชิด ซึ่งคือโลกของแต่ละคน โลกของเราก็คือโลกที่เรารู้จัก โลกที่เราเกี่ยวข้อง
แต่ว่าอาตมาเองก็รู้สึกว่าบางครั้งเราสับสนในเรื่องหน้าที่ของพระกับหน้าที่ของชาวบ้านหรือฆราวาส แต่บางทีบางสิ่งบางอย่างพระไม่ควรเกี่ยวข้องนั้น พระวินัยห้าม ก็เป็นอันว่าคนไปเข้าใจว่าชาวพุทธทั้งหมดไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องสถาบันสงฆ์อย่างเดียว ซึ่งบางสิ่งบางอย่างพระทำไม่ได้ แต่ว่าเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่ต้องทำ


อาตมาเองก็รู้สึกว่าบางครั้งเราเอาการปฏิบัติธรรมเหมือนกับเอาไว้ในลิ้นชัก แล้วก็เหมือนว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลย เหมือนเป็นคนละเรื่อง ซึ่งอันนี้ก็ไม่ถูก ถ้าเรามีความจริงใจในการที่จะมีสังคมพุทธ ที่จะสร้างสังคมพุทธ เราจะเอาอะไรเป็นหลักสำคัญ ทีนี้เราต้องมาตกลงกันในเรื่องนี้ อาตมาพิจารณาว่า สองข้อที่สำคัญที่สุดในความคิดของอาตมา คือ
๑)    การไม่เบียดเบียน รวมถึงการมีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
๒)  สัจจะ คือ จะเห็นว่าในการเจริญบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็ผิดพลาดและท่านก็ถอยหลังมาหลายครั้ง แต่ว่ามีบารมีข้อเดียวที่ท่านไม่เคยพลาดเสีย คือ สัจจะ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมขึ้นว่า การพูดจริง การไม่บิดเบือน การไม่โกหก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของชาวพุทธ
การกระทำถ้าเราเห็นว่า คนโกหกอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุดเลย แล้วก็ไม่ควรจะมีตำแหน่งและรับผิดชอบต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกวันนี้การโกหกที่สัมผัสเห็นว่าเป็นของธรรมดา นักการเมืองทั้งหลาย


ดังนั้นเราต้องส่งเสริมคุณงามความดี ส่งเสริมแต่การกระทำ แล้วก็บางครั้งเราต้องมีการเสียสละ แต่ว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร เราก็รู้เท่าทัน เราต้องรู้เท่าทันตามความเห็นว่าเป็นทิฐิ ความเห็นที่เราอาจจะผิดก็ได้ ข้อมูลอาจผิด อาจไม่ครบการวินิจฉัยข้อมูลอาจผิดก็ได้





ชื่อเรื่อง  สนทนาธรรมกับครู
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕
ผู้ถอด นันทนา วนาธรรม
ผู้ตรวจทาน -

** หมายเหตุ: เอกสารจากการถอดเสียงฉบับนี้ยังไม่ได้รับการตรวจทานอย่างเป็นทางการ

สนธนาธรรมกับครู โดยพระอาจารย์ชยสาโร (๑)

สนธนาธรรมกับครู
โดยพระอาจารย์ชยสาโร
Wat Pah Nanachat
วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕

            อันที่จริงการที่อาตมาสนใจหรือมาฝึกหัดปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ก็เพราะว่ารู้สึกเบื่อหน่ายในปรัชญา ซึ่งก็รู้สึกขำดีว่าในประเทศไทยเอาทั้งสองอย่างมารวมกันอย่างนี้

ตอนอาตมาเป็นนักเรียน สมัยเป็นเด็กสุขภาพไม่ดี เป็นโรคหืด ฉะนั้นเลยต้องขาดโรงเรียนบ่อย เลยเกิดนิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ ชอบคิด เป็นนักคิดนักค้นคว้า แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราเกิดมาทำไม เราจะใช้ชีวิตนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่สังคม แก่โลก จะอยู่อย่างไร ชีวิตที่ดีงามมีไหม ชีวิตอันประเสริฐดีมีไหม

ตอนนั้นอาตมาก็เป็นชาวอังกฤษ เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งทุกวันนี้คนชั้นนี้ก็ไม่ค่อยมีศาสนา  ก็อยู่เฉยๆ ขึ้นทะเบียนเป็นชาวคริสต์ แต่ว่าเข้าโบสถ์เฉพาะวันคริสมาสต์ปีละครั้ง คนอังกฤษก็มักจะเป็นอย่างนี้   เพราะฉะนั้นปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของศาสนา เรื่องที่ศาสนาจะช่วยได้

แต่บ้านของอาตมาอยู่ใกล้ๆ เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านหนังสือ ดังนั้นทุกวันเสาร์อาตมามักจะนั่งรถเมล์เข้าไปในเคมบริดจ์ เข้าไปในร้านหนังสือ อ่านหนังสือตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น พอดีที่เคมบริตจ์ส่วนมากคนที่ทำงานในร้านหนังสือเป็นศิษย์เก่า เคยยากจนมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาเขาเห็นนักเรียนนักศึกษา ไม่มีสตางค์ซื้อหนังสือ เขาก็ไม่รบกวน ก็หยิบหนังสือออกมาอ่าน พอถึงเที่ยงรู้สึกหิวข้าวก็เก็บหนังสือไว้ที่เดิม ไปกินข้าว บ่ายโมงก็กลับมาอ่านต่อ อ่านหนังสือไปหลายเล่ม โดยไม่ต้องเสียสตางค์เลย

แต่ตอนนั้นเราเป็นคนแสวงหาหรือว่าค้นคว้าโดยไม่มีจุดหมายที่แน่ชัด อ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปเกือบทุกศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จิตศาสตร์ (นาทีที่ 3:32) อะไรๆ ทุกอย่าง ปรัชญาก็อ่าน แต่รู้สึกว่าอ่านปรัชญาแล้วปวดหัว เราอ่านมากเหมือนกัน แต่ว่ากลับรู้สึกว่า มีความรู้มากขึ้น แต่สิ่งที่รู้น้อยลง คือการที่จะได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตน้อยมาก

เมื่อวานนี้ฟังอาจารย์เสถียรพงศ์ (นาทีที่ 4:10) พูดถึงความละเอียดในการใช้ภาษาบาลีของคนที่ได้เปรียญ ๙ ประโยค รู้สึกว่าคล้ายกับนักปรัชญาในสมัยปัจจุบัน พวกที่เขาเรียกว่า logical protectialism (นาทีที่ 4:30) ซึ่งส่วนมากเขาจะวิเคราะห์เรื่อง ภาษา ความหมายของภาษา การใช้ภาษา มากกว่าอย่างอื่น หรืออีกพวกที่เรียกว่า existentialism (นาทีที่ 4:43) ซึ่งเขาก็ซาบซึ้งในเรื่องของความทุกข์ แต่ว่าหยุดชะงักที่ความทุกข์ ไม่ได้ไปไหน แต่เรารู้สึกว่าเรื่องปรัชญาวนเวียนไม่ไปไหน

วันนึงเจอคำสอนของพระพุทธองค์ ก็สะดุ้งเลย มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นความจริงที่เราเคยรู้มาก่อน คือไม่มีความรู้สึกว่าเป็นปรัชญาของชาวตะวันออกหรือเป็นของเอเชีย แต่รู้สึกว่ามันเป็นความจริงที่เป็นสากล มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่เรายังไม่เคยสัมผัส ความรู้สึกก็ไม่ใช่ว่าเรามาพบของใหม่ แต่เรามาสัมผัสกับของเก่า  เหมือนเรามาเจอคนที่เคยรัก คนที่เราเคยเป็นอาจารย์ คนที่เป็นกัลยาณมิตรมาก่อน ก็รู้จักกัน พอใจ

แล้วถ้าถามว่าประทับใจคำสอนข้อไหน ประทับใจหมดทุกข้อ แต่ว่าจะยกสองข้อมาพูดตรงนี้ ข้อแรก คือ ‘เอหิปัสสิโก’ และข้อสอง คือ ‘โอปนยิโก’      ชอบมากว่าคำสอนของพระพุทธองค์ ชวนเราดู ไม่ได้ชวนเราเชื่อ ให้เกียรติแก่เราในฐานะที่เราเป็นนักศึกษานักค้นคว้า อนุญาติให้เราวิพากษ์วิจารณ์ อนุญาติให้เราสงสัย ซึ่งถ้าเป็นศาสนาคริสต์ ถือว่าความสงสัยคือบาป เป็นความเย่อหยิ่งของคนขาดศรัทธา ที่นี้อ่านบทที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “แม้นจะเป็นคำสอนของพระตถาคตก็อย่าเพิ่งไปเชื่อ อย่าเชื่อง่าย” อันนี้รู้สึกโล่งใจ แล้วเราชอบ

มีอีกคำหนึ่งซึ่งทำให้รู้สึกต่างจากปรัชญาที่เคยศึกษามา คือ โอปนยิโก มันเป็นธรรมะที่น้อมเข้าไป หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือเป็นธรรมะที่ดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งความเป็นอิสระ คือ ธรรมะต้องเป็นสิ่งที่ต้องปรากฎในสิ่งที่เราทำคำที่เราพูด ความรู้สึกนึกคิดของเราตลอดเวลา ชอบที่ธรรมะเป็นวิธีการฝึกปรือตนที่สมบูรณ์ ชัดเจน ละเอียดอ่อน ซึ่งในศาสนาอื่นรู้สึกว่า ท่านมีอุดมคติ อุดมการณ์ที่สูง น่าฟัง แต่ว่าขาดอยู่ที่วิธีการที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์

เพราะฉะนั้นความรู้สึกประจำจิตประจำใจของชาวตะวันตก ซึ่งชาวตะวันตกเห็นเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติธรรม คือ ความรู้สึกที่เรียกว่า yoke (นาทีที่ 9:00)  ชาวตะวันออกที่ไม่เคยเติบโตในวัฒนธรรมตะวันตก จะไม่มีทางเข้าใจคำนี้อย่างลึกซึ้ง มันเป็นคำที่จะอธิบายยาก ถ้าจะอธิบายลึกๆ มันเป็นความรู้สึกว่าตัวเองที่จริงแล้วไม่ดี เหมือนจิตเดิมแท้ของตนเองเป็นของสกปรก พร้อมที่มองตัวเองในแง่ร้ายอยู่เสมอ ถ้าตัวเองทำอะไรดี ก็จะคิดว่าเป็นความแปลกปลอม ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากจิตใจที่แท้จริง คือสงสัยในความดีของตนตลอดเวลา มีความรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้
ซึ่งถ้าพูกถึงชาวตะวันตกที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ศรัทธาแรงกล้าเหมือนกันแต่ชาวตะวันตกจะสงสัยในข้อนี้ว่า ตนเองเป็นคนไม่ดี มีกิเลสมาก คงไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้ นี่คืออุปสรรคของชาวตะวันตก หรืออาจจะเป็นของชาวตะวันออกก็ได้ แต่ว่าชาวตะวันออกส่วนมากจะอ่านบุญอ่านบารมีมากกว่า

แต่อาตมามีความรู้สึกประทับใจซาบซึ้งความเรียบง่ายของคำสอนของพระพุทธองค์
แล้วมีพุทธบทข้อหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่ามีความสำคัญมากที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราไม่ได้สอนอะไรมากมาย เราสอนแต่ความทุกข์ และวิธีดับแห่งความทุกข์”

พวกเราก็คงเคยได้ยินได้ศึกษาพระไตรปิฎก คงได้เจอบ่อยที่พวกนักปรัชญาต่างๆทั้งหลายก็มาถามปัญหาเรื่อง โลกนี้เที่ยง หรือไม่เที่ยง หรือทั้งเที่ยงทั้งไม่เที่ยง หรือเที่ยงก็ไม่ใช่ ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่ ถามอะไรสารพัด พระพุทธองค์ไม่ยอมตอบ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ชีวิตมันสั้นเกินไปที่จะคุยเรื่องนี้ เราพูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันดีกว่า ให้เรามาดูความทุกข์ ให้เรามาหาทางที่จะพ้นจากความทุกข์”

แต่หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระบางองค์บางกลุ่มไม่พอใจ ก็เลยมาเล่นปรัชญา ถ้าเราดูในพระไตรปิฎกทางมหายานใหญ่โตมโหฬาร อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืนตลอดชีพก็อ่านไม่จบ แต่ฝ่ายเถรวาทเราจะเห็นว่า การขยายความในพระไตรปิฏกมีน้อย ถ้ามีก็มีในพระอภิธรรม และก็มีวิสุทธิมรรค (นาทีที่ 13:06) แล้วก็มีอรรถกถา (นาทีที่ 13:07) แต่ไม่มาก มีน้อย นักวิชาการตะวันตกบางคนถึงกับบอกว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทขาดนักปราชญ์ ขาดความสร้างสรรค์ในการขยายความของที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ไม่เหมือนฝ่านมหายานซึ่งขยายจริง ซึ่งเขามาขยายนี่พวกเราไม่เรียกขยาย เราเรียกว่า ‘ปรุงแต่ง’

แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าคำสอนของพระพุทธองค์สมบูรณ์แล้ว ถ้าไม่สมบูรณ์ พระพุทธองค์ก็ไม่ยอมปรินิพพาน ก็ไม่มีอะไรขาดไม่มีอะไรเกิน คำสอนของพระพุทธองค์พอดี พอดีแก่การพ้นจากความทุกข์
อาตมาเองมีความเชื่อมั่นในข้อนี้จนกระทั่งเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ เรื่องปรัชญา เรื่องอะไรต่ออะไร รู้สึกไม่สนใจเสียแล้ว เพราะว่าศาสนาพุทธของเราไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรบกพร่อง เพียงแต่ว่าเราเข้าไม่ถึงตัวแทนของศาสนา หรือแก่นสารของศาสนา แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือชีวิตที่ไร้ทุกข์มีอยู่แล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เลิกเรียนปรัชญา ก็คือ อ่านประวัติของนักปรัชญา แล้วหมดศรัทธาเลย คือ บางคนที่ปรัชญาสูงมาก เช่น Schopenhauer (นาทีที่ 15:21) เอาคำสอนของพระพุทธศาสนา คำสอนของอุปนิษัท (Upanishads) (นาทีที่ 15:25) คำสอนของตะวันตกมาผสมผสานกัน รู้สึกว่าเป็นปรัชญาที่ดีมาก แต่ว่าตัว Schopenhauer เองเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก เขา…(นาทีที่ 15:41 - นาทีที่ 15:45)  เป็นคนที่ไม่ดีพูดง่ายๆ
เห็นหลายคนที่คิดสูง แต่การกระทำไม่สูง หลวงพ่อชาท่านเคยเปรียบคนประเภทนี้ว่า เหมือนอีแร้ง อีแร้งมันบินสูง แต่ว่ามันกินอะไร บินลงมากินซากศพ ของสกปรก คือคิดสูง แต่ใครๆ ก็คิดสูงได้ มันไม่ยากหรอก แต่ว่าจะให้ความคิดสัมพันธ์กับการกระทำ ให้อุดมคติที่ตัวเองเชิดชูหรือนับถือปรากฏในชีวิตนี่ยาก
นี่แหละที่เราเห็นความสำคัญของการปฎิบัติธรรม ทำไมเราจึงมีความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เราเห็นว่าดีกับสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็อยู่ที่การบกพร่องของจิตใจ จิตใจเราไม่เข้มแข็ง จิตใจมันอ่อนแอ จิตใจของเรามันชอบหลงอารมณ์ มันเห็นอารมณ์กับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รู้สึกอย่างไรก็เชื่อว่าความรู้สึกอันนั้นคือเรา คือของเรา

อันนี้ไม่มีความงมงายที่ร้ายกาจ หรือที่จะมีโทษเท่าความเชื่องมงายในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ในทิฐิความเห็นของตัวเอง

ฉะนั้นวิชชาหรือศิลปะอันสำคัญหรือจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์ คือ การถอยออกจากกระแสความคิดให้ได้มุมมองใหม่ รู้จักถอดหน้ากากที่เราต้องสวมในชีวิตประจำวันมาดูใหม่ การถอยออกจากหน้าที่ หรือหน้ากากหรือบทบาทที่เราแสดงในชีวิตประจำวัน มาทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสดใส ทำให้เราเกิดปัญญาว่าความรู้สึกก็แค่ความรู้สึกเท่านั้นเอง

ก็ลองดูความรู้ที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์สามารถมีได้คืออะไร คือสิ่งที่ยากที่สุด สิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด คือสิ่งที่ง่ายที่สุด คือสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา แค่นี้ก็เป็นพระอริยะเจ้าแล้ว

แต่ว่าเราต้องพัฒนาจากระดับสัญญา ความคิดไปสู่ระดับการสัมผัส การทะลุปรุโปร่ง การรู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบ ว่าปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญญาเกิดขึ้นจากจิตที่สงบ ถ้าจิตไม่สงบ จิตยังฟุ้งซ่าน จิตยังถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตนั้นไม่สามารถวินิจฉัย หรือว่าวิเคราะห์อะไรตามความเป็นจริง เพราะว่านิวรณ์ก็ทำให้การรับรู้ ทำให้การพิจารณาบิดเบือนตลอดเวลา

ถ้าอย่างนั้นเราจะเรียกพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ว่ามันเรื่อยไปอีก เพราะส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็มี สิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็มี วิทยาศาสตร์มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ตัวนักวิยาศาสตร์เอง พระพุทธศาสนาสอนว่าต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วย แต่ต้องรู้ผู้รู้ด้วย ไม่ใช่สนใจแต่สิ่งที่เรารู้ แต่เราต้องรู้ตัวผู้รู้ด้วย เราจึงจะเห็นตามความเป็นจริง เพราะตัวผู้รู้จะมีผลต่อสิ่งที่เรารู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเปรียบเทียบ ไม่ต้องแยกระหว่างศาสนาหรือปรัชญาตะวันออก ศาสนาปรัชญาตะวันตก อันนี้ก็เป็นพวกวิชชาวนเวียน

(มีต่อ)